สารบัญเนื้อหา
วิธีดูเพชรที่เหลี่ยมสวยไฟดี
1.ชื่อเรียกแต่ละส่วนของเพชร
ในบทนี้เราจะมาพูดถึงอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ใช้ประเมินคุณภาพเพชรที่เหลี่ยมสวยไฟดี นอกจากความขาว (น้ำ) และ ความสะอาดแล้ว (เกรด) เรื่องของคุณภาพเหลี่ยมการเจียระไนก็สำคัญไม่แพ้กัน ความเข้าใจโดยทั่วไปในสังคมไทยมักนิยมสอบถามจากแหล่งที่มาของเหลี่ยม เช่น เบลเยี่ยมคัท อินเดียนคัท รัสเชียนคัท ซึ่งผู้เขียนต้องปรับความเข้าใจตรงจุดนี้ไว้ว่า ชื่อเหลี่ยมนั้นไม่สามารถการันตีคุณภาพการเจียระไนได้ เนื่องจากแต่ละประเทศนั้นมีโรงงานเจียระไนหลายคุณภาพปะปนกันไป และปัจจุบันเทคโนโลยีแต่ละประเทศได้พัฒนาเครื่องเจียระไนที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราควรตรวจสอบจริงๆแล้วคือคุณภาพของเพชรแต่ละเม็ดที่เราต้องการซื้อ ซึ่งควรอิงหลักการจากสถาบันสากลโลกที่ได้บัญญัติไว้ แต่ก่อนอื่นเราควรทราบคำศัพท์เบื้องต้นที่ใช้เรียกเหลี่ยมของเพชรก่อนดังนี้
ชื่อเรียกแต่ละส่วนของเพชร
ชื่อเรียก | ความหมาย |
---|---|
Facets | พื้นผิวที่เรียบ/ขัดเงา หรือ ระนาบบนเพชร |
Table | ด้านบนสุดของเพชร ที่มีผิวเรียบแบนขนาดใหญ่ (ซึ่งใน Brilliant Diamond เป็นรูป Octagonal) |
Culet | ด้านปลายแหลมล่างสุดของเพชรที่ถูกเจียให้ขนานกับระนาบ Table |
Girdle | ขอบรอบนอกสุดของเพชรซึ่งตั้งฉากกับ Table ใช้วัดเส้นผ่านศูนย์กลางพเชร |
Crown | ส่วนบนของเพชรที่อยู่เหนือ Girdle |
Crown hight | ระยะห่างความสูงระหว่าง Table กับ Girdle |
Pavilion | ส่วนล่างของเพชรนับจาก Girdle |
Pavilion depth | ระยะห่างความสูงระหว่าง Girdle กับ Culet |
Brilliant cut | รูปแบบการเจียระไนของเพชรที่พบมากที่สุด มักมีเหลี่ยมส่วน Crown 24 เหลี่ยม และ ส่วน Pavilion 32 เหลี่ยม และอาจมีเพิ่มได้หากมีการเจียระไนที่ส่วน Culet |
Brightness | ปริมาณแสงที่เกิดขึ้นและส่องผ่านเพชร |
Brilliance | ประกายของการกระจายแสงแวววาวที่สะท้อนมายังสายตามนุษย์ |
2. เพชรที่สวย ไฟดี ต้องไม่มีสิ่งเหล่านี้
ปัจจัยแรกเกี่ยวกับการประเมินเพชรที่สวยไฟดี ควรดูจากการตัดเหลี่ยม(เจียระไน) เป็นอันดับสำคัญที่สุด เพชรที่เจียระไนได้ดีจะมีการกระจายแสงขาวและดำสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ด และ ให้แสงความแวววาวที่สูง พึงระลึกไว้เสมอว่า เราจะอิงผลการตรวจสอบของแสงไฟทางฝั่งหน้า Table และ เพชรกลมเป็นกรณีตัวอย่างที่กระจายแสงได้ทั่วถึงและแวววาวดีที่สุด ทรงสี่เหลี่ยม และ สามเหลี่ยม จะน้อยลงไปอีกตามลำดับ
เพชรในรูปเป็นตัวอย่างเพชรที่มีความแวววาวและคอนทราสต์ที่ดี สังเกตรูปแบบสามเหลี่ยมสีดำที่กระจายอยู่ทั่วทั้งเพชร รูปแบบที่คล้ายกันนี้เป็นเรื่องปกติในเพชรที่เจียระไนอย่างดี หากพื้นที่สีดำมีขนาดเล็ก เช่นเดียวกับในเพชรเม็ดนี้ อันที่จริงแล้ว การมีอยู่ของพวกมันช่วยสร้างประกายระยิบระยับ เพราะในขณะที่เพชรหรือแสงเคลื่อนที่ พื้นที่นั้นจะเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาว ทำให้ความแวววาวดูเปล่งประกาย รูปทรงการเจียระไนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดระดับของประกายไฟ การผลิตเพชรรูปทรงแฟนซีที่มีความแวววาวนั้นยากกว่าเพชรทรงกลม แต่ละรูปทรงต้องการมุมตัดที่แตกต่างกันเพื่อให้ได้ประกายแวววาวสูงสุด
กรณีต้องการประเมินคุณภาพการเจียระไนเพชรแฟนซี(หรือเพชรกลมก็ตามแต่) ให้สังเกตุลักษณะดังนี้ โดยหากยิ่งมีมากในเม็ดเพชรจะทำให้ความสวยงามลดลง
- Large Dark Area มักพบบ่อยในบริเวณ Bow Tie, Cross, Circle
- Windows พื้นที่บริเวณที่เพชรมีความใส สามารถมองส่องทะลุผ่านได้
- Fisheye มีภาพสะท้อนของ Girdle รูปทรงโดนัทสีขาว
2.1 Large Dark Area
หากบริเวณพาวิลเลียนของเพชรลึกเกินไปหรือเจียระไนไม่ได้สัดส่วน เพชรอาจแสดงแถบดำเทา(Bow tie) ตลอดความกว้างของเพชรเมื่อมองในมุม Table เพชรรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบางเม็ดอาจแสดงลักษณะแถบแบบกากบาท และ รูปทรงกลมอาจมีจุดศูนย์กลางเป็นวงกลมสีเข้ม ยิ่ง Bow tie มีขนาดใหญ่และเข้มขึ้นเท่าไร เพชรก็ยิ่งไม่เป็นที่ต้องการ แต่อย่ากังวลมากจนเกินไปเพราะเพชรรูปทรงแฟนซีส่วนใหญ่มีแถบดำเทาบนเม็ดได้เป็นปกติ แต่ไม่ควรมากและชัดเจนจนกลบความแวววาวของเพชร
2.2 Windows
เมื่ออัญมณีถูกเจียระไนอย่างไม่เหมาะสมและถูกมองโดยหงายหน้าขึ้น อัญมณีเหล่านั้นอาจแสดง Window ซึ่งเป็นพื้นที่ใสจนสามารถมองเห็นทะลุผ่านได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในอัญมณีใดๆที่โปร่งใสไม่ว่าแสงจะมืดแค่ไหน และไม่ว่า Pavilian จะลึกหรือตื้นเพียงใด โดยทั่วไป ยิ่ง Window มีขนาดใหญ่เท่าใด คุณภาพการเจียระไนก็ยิ่งแย่ลงเท่านั้น เพชรที่เกิด Window มากส่วนใหญ่นั้น เป็นความพยายามของช่างตัดเพื่อเพิ่มน้ำหนักเพชรให้ได้มากที่สุดโดยแลกกับความแวววาวที่น้อยลง
เราจะไม่ค่อยเห็น Window ในเพชรเนื่องจากมีดัชนีการหักเหของแสงสูง (ระดับที่แสงโค้งงอเมื่อส่องผ่านอัญมณี) แต่มักพบในอัญมณีอื่นๆ เมื่อหน้าต่างเกิดขึ้นในเพชร มักจะเกิดในการเจียระไนเหลี่ยมมรกตและการเจียระไนแบบ Step cut
ในการมองหา Window ให้ถือเพชรประมาณหนึ่งหรือสองนิ้ว (2 ถึง 5 ซม.) เหนือพื้นหลังที่ตัดกัน เช่น มือของคุณหรือแผ่นกระดาษสีขาว จากนั้นลองมองตรงผ่านยอดหินโดยไม่เอียง และตรวจดูว่าคุณมองเห็นพื้นหลังตรงกลางหรือไม่
2.3 Fisheye
ในบางครั้งการมองเพชรจากหน้า Table จะแสดงวงกลมสีขาวคล้ายโดนัท ศัพท์สากลเราเรียกว่า Fish eye เกิดจากแสงสะท้อนของ Girdle เมื่อ Pavilian ตื้นเกินไป ซึ่ง Fish eye จะยิ่งมองได้ง่ายขึ้นหากหน้า Table มีขนาดใหญ่ ยิ่งวงกลมสีขาวหนาและโดดเด่นมากเท่าใด นั่นแปลว่าคุณภาพการเจียระไนก็จะยิ่งด้อยลงเท่านั้น เพชรที่มี Fish eye จะลดความแวววาวของเพชรลงไปอย่างมาก
Fish eye ทรงกลมใสมักจะพบในเพชรที่มีขนาดต่ำกว่า 0.20 กะรัต แต่ก็พบได้ในขนาดใหญ่กว่าเช่นกัน โดยจะส่งผลเสียอย่างมากต่อราคาของเพชร วิธีตรวจสอบ ให้ดูที่เพชรโดยหงายหน้าขึ้นด้วยแว่นขยายแล้วเอียงเล็กน้อย เพชรที่เจียระไนแบบละเอียดจะไม่แสดง Fish eye แม้จะเอียงก็ตาม (สามารถอ่านบทความ การประเมินคุณภาพเพชรด้วย4C ได้ที่ลิ้งนี้)